12/07/2007

การเลี้ยงปลาตู้


การเลี้ยงปลาสวยงาม 2
ตอนที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปลาตู้
ปลาตู้ เป็นชื่อเรียกง่าย ๆ ของปลาที่เลี้ยงในตู้กระจก ปลาตู้จัดเป็นสัตว์น้ำที่ใช้อวัยวะส่วนครีบ และกล้ามเนื้อช่วยในการเคลื่อนไหว หายใจด้วยเหลือก มีกระดูกสันหลัง มีรูปร่าง และสีสันที่สวยงามและแตกต่างกันไป ซึ่งสีสันต่าง ๆ ที่เราดูสวยงามนั้น เป็นเพียงสิ่งอำพรางหรือการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่อให้พ้นภัยจากศัตรูและยังสามารถช่วยดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้าม การที่เราจะเริ่มเลี้ยงปลาตู้เราจึงควรต้องศึกษาลักษณะส่วนต่าง ๆ ของปลาที่เกี่ยวข้องกับระบบการเจริญเติบโตของปลา การวางไข่ และนิสัยความเป็นอยู่ เพื่อช่วยปรับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้เหมาะสมต่อความต้องการของปลาให้ดีขึ้น
ลักษณะทั่วไปของปลาตู้ 1. ลักษณะสัดส่วนของลำตัวแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ทั้งด้านซ้ายและด้านขวาจะมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ 2. บริเวณเหงือกมีช่องเปิดสำหรับการหายใจ 3. เป็นสัตว์เลือดเย็น 4. แยกสัดส่วนที่ชัดเจนคือ ส่วนหัว ลำตัว และหาง มีทั้งประเภทมีเกล็ดและไม่มีเกล็ด 5. มีการให้ลูกแตกต่างกัน บางชนิดออกลูกเป็นไข่ แต่บางชนิดออกลูกเป็นตัว
ลักษณะรูปร่างของปลา โดยทั่วไปของปลาจะแบ่งลักษณะตัวปลาออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ 1. ส่วนหัว เริ่มตั้งแต่ปลายสุดของปาก ยาวตลอดถึงขอบกระดูก กระพุ้งแก้ม 2. ส่วนลำตัว คือ ส่วนที่อยู่ถัดต่อจากปลายสุดของกระพุ้งแก้มจนถึงรูทวารหนัก 3. ส่วนหาง คือ ส่วนที่อยู่ปลายสุดของปลาเริ่มจากรูทวารหนักยาวตลอดถึงปลายสุดของครีบหาง
อวัยวะต่าง ๆ ภายนอกของปลา 1. ตา ตาของปลาส่วนมากจะทำหน้าที่ในการรับรู้ความรู้สึกในการมองและวิวัฒนาการเพื่อให้สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในน้ำได้ดี 2. จมูก โดยมากจมูกของปลามีไว้สำหรับสูดดมกลิ่น ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ปลาส่วนใหญ่มีรูจมูก 2 รู แต่บางชนิดอาจมีรูจมูกเพียงรูเดียวก็ได้ 3. ครีบหาง อยู่ส่วนท้ายสุดของตัวปลาทำหน้าที่ช่วยบังคับทิศทางให้ปลาพุ่งไปข้างหน้าเวลาว่ายน้ำ และคอยบังคับการเลี้ยวและการทรงตัว 4. ครีบทวาร มีลักษณะเป็นครีบเดียวคล้ายกับครีบหาง ซึ่งอยู่ส่วนล่างของลำตัว ถัดจากครีบหางเข้าไปทางส่วนหน้าเล็กน้อยและอยู่ใกล้กับรูทวารหนักมีหน้าที่ช่วยในการทรงตัว 5. ครีบไขมัน มีลักษณะตั้งตรง สูงต่ำแผ่กว้างริ้วไปตามกระแสน้ำมีทั้งอ่อนและแข็ง หรืออาจพบครีบหลัง ตั้งซ้อนกันอยู่ ซึ่งเป็นไปตามพันธุกรรมของปลาแต่ละชนิดที่ผิดแปลกไป ทำให้เกิดความสวยงามยิ่งขึ้น 6. เกล็ดปลา มีทั้งเล็กและใหญ่เรียงซ้อนกันเป็นระเบียบมีสีเงินมันเงาช่วยป้องกันอันตรายแก่ตัวปลา และยังช่วยลดแรงเสียดทางของอากาศ 7. เส้นข้างตัว โดยทั่วไปแล้วเส้นข้างตัวจะอยู่อย่างเป็นอิสระข้างละ 1 เส้น ปลาบางชนิดอาจไม่มีหรือมีจำนวนมากก็ได้ มีหน้าที่สัมผัสติดต่อกับสภาวะภายนอกรับความรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนของระดับน้ำรอบ ๆ ตัวเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการปรับตัว เช่น อุณหภูมิและความเค็มของน้ำ 8. หนวด เป็นอวัยวะที่อยู่ทางด้านส่วนหัวของปลา มีความสั้น - ยาว แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของปลา หนวดมีหน้าที่รับความรู้สึก รับรส คลำทางหาอาหาร 9. ครีบคู่ เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือน แขน ขา ช่วยในการบังคับให้ปลาปักหัว เชิดหัว หรือทรงตัวอยู่กับที่ 10. รูทวารหนัก เป็นส่วนที่อยู่ทางด้านหลังของครีบท้องเชื่อมติดต่อกับครีบทวารหนักมีหน้าที่ในการขับถ่ายมูล และของเสียต่าง ๆ
สีบนลำตัวของปลา ปลาจัดเป็นสัตว์น้ำที่มีสีสันลวดลายสวยสดงดงามชวนให้เกิดความเพลิดเพลินแก่ผู้เลี้ยง ซึ่งผิดแปลกไปจากสัตว์ทั่ว ๆ ไปเพราะว่าปลามีระบบช่วงสีและการจัดเรียบเรียงสีอย่าแน่นอน แต่ปลาบางชนิดก็ยังสามารถปรับระบบช่วงสีและการจัดเรียงสีสัน ไปตามสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ดีอีกด้วย การปรับสีให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมนั้นจะถูกควบคุมด้วยระบบประสาท การเกิดสีสันที่ถาวรบนตัวปลา เป็นผลมาจากปฏิกิริยาของฮอร์โมนบางชนิด และยังมีแสงเป็นปัจจัยส่วนประกอบที่ช่วยกระตุ้นอีกด้วย
ระบบการสืบพันธุ์ของปลาตู้ ระบบการสืบพันธุ์เป็นวิธีการอย่างหนึ่งสำหรับสิ่งมีชีวิต เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่สวยงามเพิ่มขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการสืบพันธุ์ของปลาในการวางไข่แต่ละครั้ง มีปริมาณมาก จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาและหาวิธีการขยายพันธุ์ปลาแต่ละประเภท ให้เหมาะสม ระบบการสืบพันธุ์ของปลาแบ่งได้ 3 วิธี คือ 1. วิธีสืบพันธุ์แบบแยกเพศ เป็นลักษณะที่ปลาเพศผู้ผลิตน้ำเชื้อและปลาเพศเมียผลิตรังไข่ เมื่อถึงเวลาอันควร หรือฤดูวางไข่ ก็จะมีการผสมพันธุ์กัน ซึ่งวิธีการนี้จะพบเห็นกับปลาตู้ทั่ว ๆ ไป 2. วิธีสืบพันธุ์แบบกระเทย เป็นลักษณะปลาตัวเดียวแต่มี 2 เพศ ปลาประเภทนี้ ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตในตัวเองได้ และการสืบพันธุ์แบบนี้ ก็มีน้อยมาก คือ ในช่วงแรกจะเป็นเพศผู้ ต่อมาเริ่มเปลี่ยนเป็นเพศเมีย 3. วิธีการสืบพันธุ์แบบไม่ได้รับการผสม เป็นลักษณะที่ลูกปลาเกิดมาโดยไม่ได้รับเชื้อจากตัวผู้แต่เจริญจากปลาตัวเมีย โดยเชื้อจากตัวผู้เป็นตัวกระตุ้นให้ไข่สุกเท่านั้น จึงไม่สามารถสืบพันธุ์ได้จากเพศผู้ในปลาชนิดเดียวกัน
การดูลักษณะเพศ ก่อนที่จะเริ่มเพาะพันธุ์ปลาตู้ เราจะต้องศึกษาการแยกเพศปลาตู้ให้ถูกต้องเสียก่อน มิฉะนั้นการเพาะพันธุ์จะไม่ได้ผล ปลาตู้บางชนิดมีขนาดเล็กทำให้แยกเพศลำบากต่างบางชนิดสามารถแยกเพศได้ง่าย การแยกเพศที่นิยมใช้ก็คือการแยกเพศตามลักษณะภายนอกโดยสังเกตรูปร่างลักษณะของปลา ดังนี้ 1. ปลาเพศเมีย 1) มีลักษณะป้อมสั้น กลมกว่าปลาเพศผู้ 2) ตัวจะมีขนาดใหญ่ 3) ครีบหลังและครีบหูสั้น 4) สีซีดหรือไม่มีสี 5) ช่วงฤดูผสมพันธุ์บริเวณท้องจะเต่ง 6) ติ่งเพศจะกลมสั้น 2. ปลาเพศผู้ 1) ลักษณะลำตัวจะเล็กกว่าเพศเมีย 2) ครีบหลัง ครีบก้นและครีบหูจะดูยาวเรียวและโค้งเป็นพิเศษ 3) มีสีสันสวยงาม 4) ในกรณีที่มีหนวดปลาเพศผู้จะมีหนวดยาวกว่าเพศเมีย 5) ติ่งเพศ ยื่นออกมาให้เห็นมีลักษณะค่อนข้างแหลม
ฤดูกาลที่ปลาวางไข่ ปลาตู้ทุกชนิดจะไม่มีฤดูกาลวางไข่ที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อร่างกายเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ระบบสืบพันธุ์ก็พร้อม และเมื่อมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะเริ่มมีการวางไข่ และจะเป็นเช่นนี้ตลอดปี ปลาที่ออกลูกได้เร็วก็มี ปลาหางนกยูง ปลาสอด เป็นต้น ปลาชนิดนี้จะได้ลูกในระยะเวลา 3-4 เดือน เรื่อย ๆ ไป ช่วงฤดูกาลวางไข่เราสังเกตได้จากปลาเพศผู้ไล่ต้อนปลาเพศเมียหรือปลาบางชนิดใช้ปากจูบกัน แสดงถึงการจับคู่ผสมพันธุ์วางไข่ ซึ่งเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันวิทยาการก้าวหน้ามากถึงกับมีการกระตุ้นให้ปลาเกิดอาการจัดคู่วางไข่ ได้โดยอาศัยปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1. การปรับระดับอุณหภูมิในน้ำให้เหมาะสมกับการวางไข่ของปลาบางชนิด ซึ่งระดับอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมนี้ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก 2. การให้อาหารที่มีธาตุอาหารครบตามความต้องการของปลา 3. อุปกรณ์ที่จะกระตุ้นการวางไข่ของปลาแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน เช่นปลาที่ชอบวางไข่ติดกับพันธุ์ไม้น้ำเช่น ปลาปอมปาดัวร์ ปลาทอง เป็นต้น ถ้าเราไม่จัดพันธุ์ไม้น้ำไว้ให้ต่อให้ไข่สุกแค่ไหนปลาก็จะไม่ยอมวางไข่ ปลาบางประเภทชอบฝนตก ปลาบางประเภทชอบน้ำใหม่ ดังนั้นเราจึงต้องศึกษาธรรมชาตาของปลาตู้แต่ละประเภทให้ดีพอ 4. ปลาเพศตรงข้าม ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการกระตุ้นให้มีการวางไข่เช่นตัวเมีย จะกระตุ้นให้ตัวผู้ผลิตน้ำเชื้อ เช่น ปลากัด ฯลฯ 5. ลักษณะความหนาแน่นของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ถ้าพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มีมากเกินไป ถึงแม้ว่าไข่และน้ำเชื้อจะสมบูรณ์เต็มที่ ปลาเหล่านี้ก็จะไม่มีการผสมพันธุ์กัน ทั้งนี้เพราะระบบนิเวศน์ไม่เหมาะสม

No comments: