12/07/2007

การเลือกไก่ชน



อื่น ๆ เเกี่ยวกับล้านนา
ไก่ชน

การชนไก่ หรือ ตีไก่ คือการที่ไก่ตัวผู้สองตัวมาต่อสู้กันจนแพ้กัน การชนไก่เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคสมัยใดนั้นไม่สามารถสันนิษฐานได้ แต่มีผู้สันทัดกรณีบางท่านสันนิษฐานว่า แหล่งกำเนิดน่าอยู่ในทวีป เอเชียเพราะประเทศต่าง ๆ ในเอเซียนิยมเล่นไก่กันอย่างแพร่หลาย เช่น ไทย ลาว พม่า เขมร เวียดนาม จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดเนียเซีย เป็นต้น อีกทั้งการพบรูปสลักหินแสดงการชนไก่ที่ปราสาทหินนครวัดในประเทศกัมพูชาที่มีอายุเก่าแก่มากกว่าพันปี แสดงว่าการชนไก่มีมานานแล้ว ไก่จนที่แท้จริงต้องเป็นไก่ที่สืบเชื้อสายมาจากไก่อู ซึ่งมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศอินเดีย และไก่อูนี้เป็นเชื้อสายของไก่พันธุ์พื้นเมืองที่มีเชื้อสายมาจากไก่ป่า ไก่อูเป็นไก่ที่มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น รูปร่างสง่า ปราดเปรียวว่องไว โครงกระดูกใหญ่แข็งแรง เนื้อแน่น นิสัยดุร้าย หากินเก่ง และ ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ไก่ชนิดนี้จะตรงกับตำราว่า ” อกชั้น บั้นชิด หงอนปิด ( หงอนหิน ) ปากร่อง ” ซึ่งเป็นตำราว่าด้วยลักษณะไก่ชนที่ดี และต้องเป็นสีประจำพันธุ์ดั้งเดิม คือ สีประดู่หางขาว สีเขียวปีกแมลงภู่และสีเหลืองเท่านั้น
การเล่นไก่ขนของคนภาคเหนือส่วนใหญ่ใช้ไก่อายุประมาณ ๑๑ เดือนขึ้นไป ถ้าอายุไก่อ่อนกว่านั้นขนไก่ก็ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่นัก มักมีขนบั่วออก ( ขนบั่ว - ขนออกใหม่ เป็นหนามแหลม ) หากนำไก่ไปชนในช่วงนี้ไก่มักไม่ค่อยสู้เต็มที่เพราะเจ็บขน ไก่ชนของภาคเหนือจะมีการชนบ่อยครั้ง ปีหนึ่ง อาจชนถึง ๕ - ๖ ครั้ง ในขณะที่ภาคกลางปีหนึ่งอาจชนแค่ ๒ - ๓ ครั้งเท่านั้น การนำไก่ชนบ่อยเกินไปทำให้ไก่ไม่ค่อยสมบูรณ์แข็งแรงเต็มที่ เนื่องจากมีเวลาพักฟื้นสภาพร่างกายน้อยเกินไป
ลักษณะไก่ชนที่ดี
นักเลงไก่ชนจะเริ่มดูลักษณะไก่ว่าตัวไหนจะดีหรือเลว โดยดูตั้งแต่ไก่อายุประมาณ ๔ - ๖ เดือน ขึ้นไปซึ่งพิจารณาจากส่วนประกอบต่าง ๆ ของร่างกาย ดังต่อไปนี้
๑ . ลำตัว ไก่ชนที่ดีลำตัวต้องยาวแบบ “ ไก่สองท่อน ” หมายถึง ช่วงตัวไก่หากใช้มือทั้งสองจับรวบรอบลำตัวให้ปลายนิ้วชี้ทั้งสองชนร่องอกไก่ ส่วนหัวแม่มือทั้งสองอยู่บนหลังไก่ ตั้งแต่ไหล่จนถึงก้นจับรวมได้ ๒ ครั้ง น้ำหนักไก่ชนเมื่อโตเต็มที่ไม่เกิน ๓ กิโลกรัม ไม่อ้วนไม่ผอมเกินไป สูงเปรียว โครงสร้างกระดูกใหญ่ อกกลมมน หลังแบนหน้าหนา ยืนอกชัน ท่าทางองอาจ จึงจะเป็นไก่ชน “ หงส์ ” ที่ถือว่าสง่างามเป็นเลิศ
๒ . สีหนัง สีของหนังไก่เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณา คัดเลือกไก่ชนเพราะแสดงถึงความสมบรูณ์ และลักษณะนิสัยของไก่ได้ ดังนี้
๑ . หนังหนาสีแดง เป็นไก่ที่มีพละกำลังมาก ทรหด อดทน เมื่อนำไปชนจะแข็งแรงและสมบุกสมบันมาก
๒ . หนังเหลือง เป็นประเภทไก่หนังบาง เปราะบาง ไม่สมบุกสมบัน ไม่เหมาะที่จะคัดเป็นไก่ชน
๓ . หนังสีขาว เป็นไก่ประเภทไม่สู้ไก่ในใจไม่ทรหดอดทน ซูบผอมง่าย ไม่เหมาะที่จะเลี้ยงเป็นไก่ชน
๔ . ไก่หนังดำ ค่อนข้างหายาก จัดเป็นไก่ประเภทพิเศษ สามารถเลี้ยงไว้เป็นไก่ชนได้
๕ . หงอน ไก่ชนที่ดีหงอนต้องหนาเล็ก ฐานแน่บแบบหงอนหิน ( ลักษณะเป็นก้อนกลมยาวรีเล็ก ๆ บนหัวไก่ ) เพราะหงอนเล็กจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหว และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวและไม่เป็นเป้าในการจิกตีของคู่ต่อสู้ หงอนที่เลว คือหงอนหยัก ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นแผ่นบาง หยักบาง จะทำให้คู่ต่อสู้จิกตีได้ง่าย
๖ . เหนียงและตุ้มหู ไก่ชนพันธุ์แท้จะไม่มีเหนียงและตุ้มหูเลย เนื่องจากเหนียงตุ้มหูเป็นจุดอ่อนที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะคู่ต่อสู้มักจิกตีจุดเหล่านี้ หากถูกตีมาก ๆ จะทำให้เลือดคั่งบวมโต ดังนั้นไก่ชนที่ดีต้องไม่มีเหนียงและตุ้มหู หากมีก็ต้องมีขนาดเล็กและสั้นจึงจะใช้ได้
๗ . หัว หัวกะโหลกไก่ชนที่ดีจะมีรอยรัดเข้าไปหาต้นคอ ท้ายทอยต้องไม่มีขนขึ้น เรียกว่า “ รอยไขหัว ” เป็นที่เจาะกรีดเอาเลือดที่คั่งบริเวณหัวออกทิ้ง
๘ . ปาก ไก่ชนต้องมีปากสั้นหนา โคนปากอวบสัดส่วน สมดุลกับหัว ปลายปากงองุ้มเล็กน้อย ปากบนและล่างต้องยาวเท่ากันมีความหนาแน่น แข็งแรง เป็นร่องคล้ายปากนกแก้ว ตำราไก่ชนถือว่าสีของปากไก่ต้องเป็นสีเดียวกันสีของเกล็ดแข้ง ยิ่งตาเป็นสีเดียวกันอีกยิ่งดี ถือว่าเป็นไก่ชนที่ดีเยี่ยม
๙ . รูจมูก รูจมูกไก่อยู่บริเวณโคนปากตอนบนทั้งซ้ายและขวาข้างละรู ไก่ชนที่ดีต้องมีรูจมูกกว้างใหญ่ หายใจสะดวกเวลาเหนื่อยจะไม่หอบเพราะจมูกกว้างหายใจได้สะดวก
๑๑ . ไก่ชนที่ดี ดวงตาต้องแจ่มใสมีน้ำหล่อเลี้ยงเป็นตาประเภทตาปลาหมอตาย สีเหลืองอ่อนหรือเหลืองแก่ ตาคว่ำและลึกจมอยู่ในเบ้าตา ซึ่งเป็นตาไก่ที่ฉลาด อดทน ดุร้าย อีกประเภทหนึ่ง คือตาลอย มีลักษณะกลมใส กลอกกลิ้ง ล่อกแล่กตลอดเวลา เป็นลักษณะตาไก่ที่ฉลาดมีไหวพริบ ชั้นเชิงดีทรหดอดทน ส่วนตาสีอื่น ๆ เช่น สีแดง ฟ้า น้ำตาล ลายและสีขุ่น มักเป็นสีตาไก่ที่ใจเสาะ ไม่ดี ไม่มีน้ำอดน้ำทน ไม่ควรเลือกไว้ชน ถ้าจะให้ดีสีตาต้องเป็นสีเดียวกับปาก เกล็ดแข้งและเดือย จะเป็นการดีมาก
๑๒ . คางและคอ ไก่ชนต้องมีคางซึ่งคางซึ่งจัดว่ามีลักษณะดี ๓ แบบ คือ คางรัด คางเหลี่ยม และคางกลม คอไก่ชนที่ดีต้องยาวและใหญ่ หากเป็นคอโกลน คือซอกคอด้านล่างโล้น จนเห็นหนังแดงๆ ไม่มีขนสร้อยเลยยิ่งดี จัดเป็นไก่ที่มีชั้นเชิง ตีประชิดตัวดีมาก
๑๓ . สีขนสร้อย โดยปกติมักเรียกไก่ตามสีขนสร้อยของมัน เช่น เหลือง เขียว ประดู่ ทองแดง หม่น ( เทา ) เลาและลาย เป็นต้น สร้อย คือขนละเอียดปลายแหลมสีต่าง ๆ จะปกคลุมด้านบนเป็นขนรอง สร้อยขนที่คอเรียก “ สร้อยคอ ” ที่ปีกเรียก ” สร้อยปีก ” ส่วนที่ปกตั้งแต่หลังโคนหางเรียก “ สร้อยหลัง ” ไก่ชนจะต้องมีสีขนสร้อยทั้งตัวเป็นสีเดียวกัน อาทิ หากสร้อยคอสีเหลืองสร้อยปีกและหลังก็ต้องเป็นสีเหลืองเหมือนกัน ทั้งนี้อาจเรียกสีหางเพิ่มไปด้วย เช่น เหลืองหางขาว เหลืองหางดอก เหลือหางดำ เป็นต้น
๑๔ . อก อกไก่ชนต้องกว้างใหญ่และค่อย ๆ เรียวลงอย่างได้สัดส่วน กล้ามเนื้อนูน เวลายืนอด ( อกชัน ) ดูเป็นสง่า อีกแบบหนึ่ง คือจะมีลักษณะกลมรี แต่ไม่ยาวเท่าใด
๑๕ . ช่องท้อง ช่องท้องเป็นช่วงระหว่างกระดูกกอไก่กับรูทวาร ซึ่งจะมีเฉพาะเนื้อและหนังเท่านั้นไก่ชนที่ดีช่องท้องต้องเล็กและแคบ
๑๖ . ตะเกียบก้น เป็นปุ่มกระดูกแข็ง ๒ ปุ่ม อยู่ก้นบริเวณทวารหนัก ไก่ชนดีตะเกียบต้องแข็งและอยู่บริเวณทวารหนัก ไก่ชนดีตะเกียบต้องแข็งและอยู่ชิดกัน ยิ่งชิดมากยิ่งดี ตามตำราไก่ชนชาวเหนือ เรียกว่า “ ไก่ฮูขี้ตั๋น ” เป็นไก่ชนที่ว่องไวและตีเร็ว
๑๗. หาง นักชนไก่นิยมไก่มีหางแบบแข็งเป็นกำใหญ่ ( ภาคกลางเรียก “ หางกระบอก ”) นอกจากนี้อาจเป็นแบบหางพุ่ม ส่วนหางยาวโค้งมักไม่นิยมเพราะไก่ชนมักเหยียบหางตัวเองทำให้เสียหลัก เวลาชนไก่จะเคลื่อนไหวไม่คล่องตัว
๑๘ . ปีกและขน ขนไก่ที่จัดว่างามต้องละเอียด หนา แห้ง แข็งเป็นมันและปลายแหลม ส่วนขนปีกต้องหนาใหญ่และยาว ในการนำไก่ไปชน เจ้าของต้องดูความสมบูรณ์ของขนด้วย คือไก่ ต้องไม่อยู่ในระยะถ่ายขน ( สลัดขนเก่าหลุดไป ขนใหม่จะงอกขึ้น ) ไก่ถ่ายขนนี้ปล่อยให้ชนยังไม่ได้ เพราะขนยังไม่สมบูรณ์พร้อม อาจแสดงชั้นเชิงตีไม่ได้เต็มที่ วิธีสังเกต คือถ้าหงายปีกดูตรงโคนขนปีกแต่ละเส้น หากมีรอยปลอกสีขาวโผล่เคลื่อนออกมา ก็แสดงว่าไก่กำลังถ่ายขน
๑๙ . แข้ง แข้งไก่มี ๕ ประเภท คือ
๑ . แข้งเรียวหวายมีลักษณะกลมเล็กเหมือนเส้นหวาย โดยจะกลมตั้งแต่ข้อเข่าและจะค่อย ๆ เรียวใหญ่ขึ้นจนจรดโคนนิ้ว เป็นแข้งที่ตีได้เจ็บปวดและแม่นมาก
๒ . แข้งกลมใหญ่และแข้งเหลี่ยมใหญ่ ไก่ตัวโต มักมีแข้งใหญ่แต่ไก่ตีช้า มักตีตามลำตัว ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไก่แข้งเล็ก
๓ . แข้งคัด คือแข้งแบบเหลี่ยมเล็ก เป็นที่นิยมพอสมควร
๔ . แข้งแข็งสั้น เป็นลักษณะแข้งที่ตีดีเช่นกันแต่ทั้งนี้ต้องสังเกตดูสัดส่วนของช่วงขากับลำแข้งซึ่งต้องยาวได้สัดส่วนกัน ถ้าลำแข้งสั้นกว่าปั้นขามากก็ไม่ค่อยแม่น
๑๗ . เกล็ด ไก่ชนโดยทั่วๆ ไปมักมีเกล็ดแข้งแบบธรรมดา ซึ่งมีลักษณะเป็น ๒ แถว หรือ ๓ แถว อาจเรียงเป็นระเบียบก็ได้ แต่ที่นักเลงไก่ชนให้ความสนใจมากเพราะเป็นเกล็ดพิเศษ ถือว่าเป็นเกล็ดไก่ชนที่ดีมาก คือ เกล็ดปอบ ( ปลอก ) ภาคกลางเรียก “ เกล็ดกำไล ” จะมีลักษณะเป็นเกล็ดเดียว ( คล้ายเกล็ดที่นิ้ว ) เรียงกันเต็มแข้ง เกล็ด พร้าวพันลำ ( ภาคกลางเรียก เกล็ดพันลำ ) เป็นเกล็ดเดียวเฉียงเรียงเต็มแข้ง สิ่งที่สำคัญก็คือสีของเกล็ดต้องเหมือนสีปาก ตา ขน เล็บ และเดือย จึงจะเป็นไก่ชนที่ดีเยี่ยม
๑๘ . เดือย ภาษถิ่นเรียกว่า เดือ เดือยไก่ที่ดีต้องแข็งและแหลมเป็นอาวุธประจำตัวของไก่ชนที่สำคัญคือ ถ้าแทงถูกจุดสำคัญอาจทำให้คู่ต่อสู้ได้รับบาดเจ็บ และไม่ยอมสู้เดือยไก่ชนมี ๗ ลักษณะ ดังนี้
๑ . เดือยเข็ม มีขนาดเล็ก ยาวและปลายแหลม เป็นเดือยที่แทงได้แม่นยำเจ็บปวด แต่หักง่าย
๒ . เดือยขนเม่น มีลักษณะกลม ก้านเดือยกลมคล้ายขนแม่น ปลายแหลมคม และตรงเฉียงลงเล็กน้อยเป็นเดือยไก่ชนที่ดีมาก จัดเป็นไก่แทงจัด ขนาดเดือยมักจะเท่ากับนิ้วไก่
๓ . เดือยงาช้าง มีลักษณะกลมค่อนข้างแบนเล็กน้อย ปลายแหลม งอนขึ้นคล้ายงาช้าง มั่นคงแข็งแรงมาก
๔ เดือยคัด โคนใหญ่และสั้นปลายแหลมคม แข็งแรงและทนมากแต่แทงได้ไม่ลึก
๕ . เดือยแฝด เป็นเดือยที่งอกซ้อนกันมากกว่า ๒ อัน หากยาวและได้สัดส่วนจัดเป็นเดือยที่อันตรายมากเพราะหากเดือยแทงเกิดบาดแผลฉกรรจ์
๖ . เดือยขวาน เป็นเดือยแบนหนาเทอะทะ ปลายบานออกคล้ายคมขวาน เป็นเดือยที่ไม่ดี
๗ . เดือยคุด เป็นเพียงปุ่มกระดูก ไม่มีคม ไม่มีประโยชน์ เดือยไก่ชนที่ดี ควรมีสีเดียวกับสีตัว ปาก เกล็ด แข้ง เล็บ และตา และความยาวเดือยต้องยาวเกินครึ่งนิ้วจึงถือว่าดี
๑๙ . นิ้ว เกล็ดนิ้ว และเล็บ นิ้วไก่จะมี ๔ นิ้ว ด้านหน้าสามนิ้ว และด้านหลังเฉียง ๆ มีนิ้วก้อย นิ้วไก่ชนที่ดีมักจะนิ้วสั้นใหญ่ เพราะไก่ที่มีลำหักโค่นดี แข็งแรง และตีได้รุนแรงมาก ส่วนนิ้วเล็กยาว ตีไม่ค่อยหนักแน่นเด็ดขาด แต่ถ้าถูกจุดสำคัญก็สร้างความเจ็บปวดพอสมควร การพิจารณานิ้วไก่ต้องดูเกล็ดนิ้วควบคู่ไปด้วย เกล็ดไก่ชนต้องมีเกล็ดหลักร่องลึกชัดเจน หากมีเกล็ดแซมกลางนิ้วหรือที่เรียกว่า “ เกล็ดแตก ” ที่นิ้วกลางของไก่ชนยิ่งดี ถือว่าเป็นไก่ชนชั้นเชิงแพรวพราว ขนดีอีกทั้งต้องมีการนับดูเกล็ด ที่นิ้วกลางตั้งแต่เกล็ดแรกของโคนนิ้วไปจรดเกล็ดสุดท้ายโคนเล็บ ต้องมีจำนวนคี่ ๑๗ หรือ ๑๙ เกล็ดจึงถือว่าดี สีเกล็ดต้องเป็นสีเดียวกับสีขน ปาก แข้ง เดือย ตาและเล็บ จึงถือว่างาม
๒๐ . อุ้งเท้า อุ้งเท้าไก่ชนที่ดีจะต้องแฟบ และบุ๋มเข้าไปเพราะจะทำให้ไก่สามารถเดินและกระโดดตีได้ถนัด
การเลี้ยงดูไก่ชน
๑ . การดูแลสุขภาพ โดยปกติก่อนที่ไก่ชนจะโตเต็มวัย เมื่ออายุได้ประมาณ ๖ เดือน เจ้าของจะต้องเอาออก ชาม ( อ่าน ” จาม ”) หมายถึงการฝึกชนหรือซ้อมชน เพื่อทดสอบดูลีลาชั้นเชิงของไก่ ส่วนใหญ่จะชนไม่เกิน ๓ ยก ทั้งนี้เจ้าของต้องการดูว่าไก่ดีด ( ตี ) หนักเบาเพียงใดแทงแม่นยำหรือไม่ และไก่ชั้นเชิงของไก่ประเภทไหน ก่อนที่ไก่จะโตและนำออกสู่สังเวียนจะต้องผ่านการ ชาม ๒ - ๓ ครั้ง
กรณีที่ไก่ชนสมบรูณ์แข็งแรงและเจริญเติบโตเต็มวัยชนแล้วเจ้าของจะเพิ่มความดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษเรื่องสุขภาพร่างกาย โดยจะเอาไก่ชนออกกำลังกายทุกเช้า ( บางแห่งก็ให้ไก่ออกกำลังกายเช้า - เย็น ) ในการฟิตร่างกายไก่ทำได้ ๒ วิธี ( ภาคเหนือ ) คือ
การล่อ คือการอุ้มไก่ตัวผู้อีกตัวหนึ่งมาล่อ โดยต้องยกไก่ล่อให้อยู่ในระดับสูงกว่าไก่ชน ให้ไก่ชนกระโดดจิกและตี บางทีก็ล่อให้ไก่ชนวิ่งไล่ตามเป็นการออกกำลังขาไปโดยไม่รู้ตัว
การเวียน เป็นการเอาไก่ตัวหนึ่งขังไว้ในกุ่ม ( สุ่มไก่ ) แล้วปล่อยให้ไก่ชนวิ่งไปมารอบๆ กุ่มหาทางเข้าไปตีไก่ตัวที่อยู่ในกุ่มนั้น แต่เจ้าของต้องคอยดูไม่ให้ไก่จิกลอดตาสุ่ม เพราะอาจทำให้ปากไก่ได้รับบาดเจ็บ หลังจากที่ออกกำลังแล้ว จะนำไก่ไปอาบน้ำ โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นพอเปียก แล้วเช็ดตามบริเวณสำคัญๆ ของไก่ หัวลำคอ ใต้ปีก สีข้าง หน้าอก ขา แข้ง และเดือย เสร็จแล้วก็เอาไก่ขังสุ่มให้ไก่ผิงแดดสักประมาณครึ่งชั่วโมงให้ขนแห้งแล้วเอาข้าวเปลือกให้กิน
๒ . อาหารบำรุงไก่ชน ข้าวที่ให้ไก่กินจะต้องเป็นข้าวขัด คือข้าวเปลือกที่ใช้ใบตะไคร้ขยี้คั้นกับเม็ดข้าวจนหมด คาย ( อ่าน ” กาย ” คือละอองฝุ่นที่ติดบนเม็ดข้าวเปลือก หากถูกผิวหนังมาก ๆ จะเกิดอาการระคายเคือง ) ข้าวเปลือกจะมีกลิ่นหอมตะไคร้ จากนั้นก็เอาไข่ไก่คลุกเคล้ากับข้าวขัดแล้วตากแดดให้แห้งและเก็บใส่ภาชนะไว้ให้ไก่ชนกิน นอกจากนี้ก็มีอาหารบำรุงสูตรพิเศษ เนื้อแช่น้ำผึ้งและกล้วยแช่น้ำผึ้ง วิธีทำก็คือ เอากล้วยน้ำว้าสุกหรือเนื้อหมูมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ยาวประมาณ ๑ นิ้ว แล้วเอาใส่กระปุกเติมน้ำผึ้งลงไปหมักพอให้น้ำผึ้งท่วมเนื้อ ปิดฝากระปุกไว้สัก ๓ วัน จากนั้นก็เอาให้ไก่ชนกินวันละประมาณ ๒ - ๓ ชิ้น บางครั้งไก่ชนมักเป็นพยาธิ ประเภทพยาธิปากขอ นักเลงไก่ชนมักจะทำยาสมุนไพรถ่ายพยาธิไว้ให้ไก่กิน โดยจะตำเมล็ดหมากผสมกะปิเล็กน้อย แล้วปั้นเป็นลูกกลอนเม็ดเล็ก และนำไปตากแห้งสนิท ให้ไก่กินครั้งละเม็ด เช้า – เย็น ประมาณ ๓ วัน นอกจากนี้ในแต่ละวันเจ้าของไก่จะต้องหาใบผักสด เช่น ผักกาด ผักบุ้ง ผักกระถิน หรือ หญ้ามีขนให้ไก่กินเพื่อไก่ได้รับแร่ธาตุและวิตามินเพิ่มขึ้น
๓ . ที่พักอาศัย ตามธรรมดาไก่เลี้ยงทั่วไปเจ้าของ มักปล่อยให้นอนตามต้นไม้ หรือใต้ถุนบ้านแต่ไก่ชนนี้เจ้าของจะดูแลเป็นพิเศษ โดยจะทำเล้าไก่ลักษณะตูบหมาแหงนมุงด้วยหญ้าคา หรือสังกะสี คุ้มแดดคุ้มฝนให้ไก่นอน บางทีก็อาจใช้ไม้ไผ่ตีเป็นแผงระแนงรอบ ๆ เล้า เพื่อป้องกันสุนัขหรือแมวเข้าไปรบกวนไก่ และทำประตูเปิด - ปิดไว้ ภายในเล้าไก่จะมีรางน้ำ รางข้าวและกระป๋องใส่กรวดทรายไว้ให้ไก่ บางรายกรณีที่เป็นช่วงเก็บตัวพร้อมที่จะเอาไก่ไปชน เจ้าของอาจเอาสุ่มครอบไก่ชน แล้วเอามุ้งมาคลุมสุ่มไก่ เพื่อป้องกันยุงและริ้นไรเข้าไปรบกวนไก่ตอนกลางคืน ให้ไก่ได้หลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ไก่จะได้กระปรี้กระเปร่าและมีสุขภาพจิตที่ดี
การเปรียบไก่และการเดิมพัน
การเปรียบ คือการหาคู่ชน ซึ่งเจ้าของไก่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการจับคู่ชนก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน ซึ่งส่งผลกระทบถึงการแพ้ชนะได้ การเปรียบไก่ชนนี้ เจ้าของไก่แต่ละฝ่ายจะแลกกันจับดูไก่ โดยจะใช้มือรวบตัวเพื่อกะขนาดลำตัวและน้ำหนัก อีกทั้งพิจารณาดูรายละเอียดต่าง ๆ ของไก่แต่ละฝ่าย เช่น ความสูง ความกว้างของแผ่นหลัง ความหนาของอก ปั้นขา ตลอดจนความยาวของช่วงขา ช่วงตัว ความใหญ่ของลำคอ และความยาวความแหลมของเดือย หากดูแล้วไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันมาก เจ้าของไก่ต่างพึงพอใจทั้งสองฝ่าย ก็จะตกลงกันเรื่องเงินเดิมพัน ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความเก่งของไก่ อาจจะตั้งแต่ ๕๐๐ บาทขึ้นไป จนถึงหลักแสน ถ้าตกลงหลักแสน ถ้าตกลงกันได้ก็จะจับคู่ชนกันเลย
กติกาในการชนไก่
บ่อนชนไก่ จะประกอบด้วยวงเสวียนหรือเวียน สูงประมาณครึ่งเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔ - ๕ เมตร มีนายบ่อนหรือเจ้าของบ่อนเป็นผู้ดูแลและดำเนินการ นอกจากนี้จะต้องมีคนคอยจับเวลาในการชนไก่ สมัยก่อนเรียก “ คนเฝ้าอาน ” หรือ “ คนตีเหล็ก ( กะหล็ก หมายถึง เกราะซึ่งทำจากปล้องไม้ไผ่สีสุกเจาะข้างเวลาตีเสียงดังโป๊กโป๊ก ) คนเฝ้าอานจะทำหน้าที่จับเวลาขณะชนไก่และการพักยกให้น้ำไก่ โดยต้องคอยมองดูอาน ซึ่งทำจากขันน้ำเจาะรูเล็กเท่ารูเข็มที่ก้นขัน เมื่อวางบนน้ำจะใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที น้ำจะเข้าเต็มขันและจมสู่ก้นถัง หรือขวดโหล เมื่อขันจมแสดงว่าครบยกก็จะ ตีกะเหล็ก ( เคาะเกราะ ) เป็นสัญญาณให้แยกไก่และหยุดพักยกให้น้ำ เมื่อหยุดพักยกให้น้ำก็จะจับอานวางบนน้ำใหม่จนกว่าขันจมน้ำ จึงเคาะเกราะอีกครั้งเป็นสัญญาณหมดเวลาพัก ให้เอาไก่ชน ใหม่จนกว่าไก่จะแพ้ชนะกัน การชนไก่แต่ละคู่ใช้เวลาทั้งหมดไม่เกิน ๑๒ อาน ( ภาคกลางเรียก ” อัน ”) อานละประมาณ ๑๐ – ๑๕ นาที บางแห่งให้พักยกให้น้ำครั้งละ ๒๐ นาที แต่มักปกติชนไม่เกิน ๗ อาน บางคู่อาจใช้เวลาเพียง ๓ - ๔ อานก็แพ้ชนะกันแล้ว ปัจจุบันบ่อนไก่ส่วนใหญ่ใช้นาฬิกาจับเวลา สำหรับบ่อนใหญ่ ๆ อาจใช้วิธีตั้งเวลาอัตโนมัติ และมีสัญญาณเสียงกริ่งเตือนเมื่อครบกำหนดเวลา
ในการชนไก่แต่ละคู่ นายบ่อนจะเป็นกรรมการผู้ชี้ขาด และเมื่อจะเริ่มชนในแต่ละยกนายบ่อนจะเข้าไปในสังเวียนพร้อมกับเจ้าของไก่ทั้งสองฝ่าย เมื่อปล่อยไก่ชนกันแล้ว ทั้งหมดต้องออกจากสังเวียนทันที ขณะที่ไก่กำลังชนกันห้ามมิให้เจ้าของช่วยเหลือหรือแตะต้องตัวไก่ ไม่ว่าจะวิธีไหนก็ตาม ไม่เช่นนั้นอาจถูกปรับให้แพ้ได้ ครั้นเมื่อหมดยก นายบ่อนเข้าไปจับไก่แยกออกจากกัน ในการตัดสินแพ้ชนะมักใช้หลักเกณฑ์เหมือน ๆ กัน คือหากไก่ชนตัวใดถูกตีแล้วร้อง และวิ่งหนีด้วยอาการเชิดหัวสูง ถือว่าไก่ตัวนั้นแพ้ แต่ถ้าร้องและวิ่งโดยไม่เชิดหัว ถ้าไม่หันมาสู้ กรรมการจะจับมาวางสู้ใหม่ ถ้าจับวาง ๓ ครั้งยังไม่สู้ให้ถือว่าไก่ตัวนั้นแพ้ ในทำนองเดียวกัน หากไก่ชนกันจนหมดแรง ไม่แพ้ชนะ ยืนเอาอกปะทะกันไขว้คอกันนิ่งอยู่ไม่ยอมชน เมื่อกรรมการจับแยกออกมาแล้วยังกลับเข้าไปอยู่ในท่าทางเช่นเดิมอีก ต้องตัดสินให้เสมอกัน
การพักยกให้น้ำไก่ชน
ช่วงพักยกให้น้ำ เจ้าของไก่ชนจะนำไก่ไปที่ซุ้มให้น้ำ โดยจะมีพี่เลี้ยง หรือที่ภาคกลางเรียกว่า “ มือน้ำ ” คอยช่วยซุ้มให้น้ำจะมีถังน้ำ เตาอั้งโล่ติดไฟถ่านคุแดงตลอด และจะมีแผ่นซีเมนต์หรือแผ่น เหล็กขาง หรือเหล็กหล่อ พาดวางบนปากเตา ภาษาชาวบ้านเรียก เตาจ่า เจ้าของไก่ต้องเตรียมผ้าให้น้ำไปด้วย วิธีให้น้ำก็คือ เอาผ้าจุ่มในน้ำพอเปียกหมาด ๆ แล้วเอาผ้าคลุมบนเตาจ่าร้อน ๆ ๒ – ๓ครั้ง และเช็ดพลางประคบหัวไก่ คอ ใต้ปีก หน้าอก และปั้นขาไก่ หลังจากนั้นก็เอาขนไก่ปั่นในปากและคอไก่ เอาเสลด และน้ำลายปนเลือดที่คั่งอยู่ออกรูดทิ้งเพื่อให้ไก่หายใจสะดวกขึ้น จนไก่หายใจปกติไม่มีเสลดขลุกขลักในคอ จากนั้นก็เอาผ้าชุบน้ำเย็นบีบใส่หน้าและหัวไก่ให้คลายเหนื่อย แล้วค่อยบีบน้ำหยดใส่ปากให้ไก่กิน
ในกรณีที่ไก่ชนไปหลายยกแล้วยังไม่แพ้ชนะ ไก่มักเจ็บและบอบช้ำมาก หากมีบาดแผลเพราะถูกเดือยแทง เจ้าของและพี่เลี้ยงต้องรีบเอาผ้าชุบน้ำคลุกเตาให้พอร้อน ประคบและเช็ดแผลแล้วเย็บแผลที่แตกให้ปิดสนิทโดยใช้เข็มและด้ายเย็บผ้าเย็บปิดแผล หากหัวไก่บวมมีเลือดคั่งต้องรับไขหัว คือใช้มีดโกนกรีดแล้วดูดหรือบีบเอาเลือดที่คั่งอยู่ออกทิ้ง แล้วเย็บแผลให้สนิท บางทีไก่ถูกตีตาบวม บูดก็ต้อง ถ่างหนังตา ด้วยการใช้เข็มเย็บร้อยเปลือกตาบนดึงขึ้นผูกติด หรือร้อยเย็บติดหงอนไว้ และร้อยเปลือกตาล่างติดกับแก้มช่วยให้ไก่มองเห็นคู่ต่อสู้ได้ หรือถ้าจะงอยปากไก่แตกหรือฉีกก็ต้องถักปากกันไม่ให้หลุด โดยทำบ่วงเงื่อนตะกุดเบ็ดรัดไว้แล้วผูกเงื่อนด้ายกับหงอนให้แน่น หลังจากที่ตกแต่งบาดแผลเสร็จ ผู้ให้น้ำต้องลองตรวจอาการไก่ชนว่าอาการดีขึ้น หรือไม่โดยบีบน้ำใส่หัวไก่ หากไก่สลัดหัวแสดงว่าอาการดีขึ้น ถ้าปล่อยลงเดินหากเดินเซต้องเอาน้ำอุ่นประคบ และดัดคอดัดปีกคลายความตึงเครียดให้ไก่พักสักครู่ โดยเอาผ้าชุบน้ำหมาดคลุมหัวไก่พักไว้ ถ้าเปิดผ้าออกปล่อยให้ไก่ลองเดินหากไก่ตีปีกและขันท้าทายแสดงว่าอาการพร้อมชนแล้ว
การรักษาพยาบาลไก่หลังชน
เมื่อชนแพ้ - ชนะแล้ว เจ้าของต้องรีบตัดด้ายที่เย็บถ่างตาและที่ผูกจะงอยปากออกทิ้ง แล้วใช้ผ้าชุบน้ำจากกระเบื้องร้อนประคบ และเช็ดตัวให้ทั่วและเช็ดแผลให้สะอาด แล้วเอาขมิ้นฝนกับน้ำปูนแดง ทาแผลและส่วนที่บอบช้ำให้ทั่วขมิ้นกับปูนแดง จะช่วยสมานแผลให้แผลแห้งเร็ว บางคนก็อาจใช้ยาแผนปัจจุบันทาให้ไก่ชน ทุก ๆ เช้าต้องเอาน้ำอุ่นจัดประคบบริเวณใบหน้า และส่วนที่บอบช้ำหลาย ๆ ครั้งแล้วจึงทายาให้ไก่ หากไก่มีอาการซึมแสดงว่ามีไข้ต้องรีบให้ยาแก้ไข้หวัดกิน และคอยบำรุงรักษาจนกว่าอาการเป็นปกติ
คำศัพท์เฉพาะไก่ชนที่ออกลีลาต่าง ๆ ขณะชน
๑ . ไก่ออกน้ำ หมายถึงไก่ที่ชนแล้วได้ยกหนึ่ง พอพักให้น้ำเสร็จ กลับไปชนอีกครั้งไม่ยอมชนอีก ไก่ออกน้ำนี้มักเป็น ไก่หงอนแถ้ม ( หงอนแบน ๆ )
๒ . ไก่ค้อนถี่ ค้อนหมายถึงการตีของไก่ที่กระทำต่อคู่ ต่อสู้ แต่ละครั้ง ไก่ค้อนถี่มักตีไม่แรง
๓ . ไก่ค้อนห่าง คือไก่ที่นาน ๆ จะตีสักครั้ง มักจะตีหนัก ๆ
๔ . ไก่ลง มี ๒ ประเภทคือ
๔ . ๑ ลงดี หมายถึงไก่ที่ก้มหัวสอดใต้ปีกคู่ต่อสู้ หรือแบกโดยใช้ลำคอคู่ต่อสู้เพื่อพลิกจิกหัวแล้วตี
๔ . ๒ ลงไม่ดี หมายถึงอาการไม่ค่อยสู้ มักเอาหัวซุกใต้ปีกคู่ต่อสู้หลบพักอยู่ หรือก้มหัวให้คู่ต่อสู้จิกตีโดยง่าย
๕ . ไก่ลอย หมายถึงอาการไก่ที่ชนแล้ววิ่งไปวนมา เหมือนหนีคู่ต่อสู้แล้วกลับมาชนกันอีก
๖ . สอดส้อย คือการที่ไก่รู้จักเอาหัวซุกเข้าใต้ปีกคู่ต่อสู้ แล้วโผล่หัวออกมาจิกตี
๗ . หางคลี่ คืออาการของไก่ที่หมดทางสู้ คลี่ปีกหางปกปล่อยให้คู่ต่อสู้จิกตีโดยไม่มีการตอบโต้ ( ถ้ามีสภาพอย่างนี้เจ้าของไก่มักจะยอมแพ้ )
๘ . ดีดตงคาง ( อ่าน ” ดีดต๋างกาง ”) คือตีเสยคางคู่ต่อสู้

No comments: